Ads 468x60px

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด


วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

ชนิดแผง 21,22 เม็ด

เริ่มใช้ยาตั้งแต่วันที่ 1 ของรอบเดือน(วันแรกของประจำเดือน)ไม่เกินวันที่ 5 ของรอบประจำเดือน กินทุกวันจนหมดแผง ควรทานเวลาเดียวกันทุกวัน สำหรับชนิด 21 เม็ดให้หยุดยา 7 วัน หยุดยา 6 วันสำหรับชนิด 22 เม็ด ระหว่างหยุดยา 2-4 วันจะมีเลือดประจำเดือนมา เมื่อหยุดยาครบกำหนดให้เริ่มแผงใหม่ตามวิธีเดิม

ชนิดแผง 28 เม็ด

เริ่มกินยาในวันแรกของรอบประจำเดือน โดยเริ่มกินเม็ดแรกในส่วนที่ระบุบนแผงว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ยา และกินยาตามทิศทางที่ลูกศรกำกับจนหมดแผง และกินแผงใหม่โดยไม่ต้องหยุดยา


ความเชื่อผิดๆ กับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด


1. ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์ของมารดา..จริงหรือ?
มีความเชื่อว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดส่งผลต่อ ตัวอ่อนในครรภ์ของมารดา ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะยาเม็ดคุมกำเนิดออกฤทธิ์ยับยั้งการตกของไข่ และยับยั้งการเคลื่อนของเชื้ออสุจิเข้าไปในมดลูก
ดังนั้นเมื่อใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดก็จะไม่มีไข่ที่สุกตกมาในมดลูก ก็ย่อมไม่มีการปฏิสนธิ เมื่อไม่มีการปฏิสนธิ ก็ย่อมไม่เกิดตัวอ่อน และยาเม็ดคุมกำเนิดก็ไม่ได้ส่งผลในการทำลายตัวอ่อนโดยตรงตามความเชื่อที่ ผิดๆ นี้... คำตอบก็คือ "ไม่ใช่"

2. การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ จะทำให้เป็นหมัน ใช่หรือไม่?
คำตอบของคำถามนี้ ก็คือ "ไม่ใช่" เช่นกัน
สำหรับผู้หญิงทั่วไปสามารถใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันได้นานเท่านานเท่าที่ต้อง การ จนอายุเข้าสู่วัยทอง ประมาณ 40-49 ปี และเมื่อใดที่ต้องการหยุดยาเม็ดคุมกำเนิด ก็สามารถหยุดได้ทันที แล้วหลังจากนั้นอีก 1-3 เดือน ก็จะเริ่มมีรอบเดือนตามปกติเหมือนเดิม และสามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 1 ปี พร้อมทั้งทารกที่เกิดหลังจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดก็ไม่มีความผิดปกติใดๆ

ดังนั้นการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ จึงไม่ทำให้ผู้หญิงเป็นหมันได้
สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่า
ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเรื่อง สำคัญอย่างมากสำหรับผู้หญิง ควรรู้ถึงข้อดีและข้อเสีย และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพของผู้หญิงแต่ละคน และยาคุมกำเนิดที่เพื่อนของเราใช้แล้วเหมาะสม หรือถูกกัน อาจจะใช้ได้ดีกับตัวเราเองหรือไม่ก็ได้

ดังนั้นถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด จึงขอเชิญไปปรึกษาเภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ที่ร้านยา หรือจะไปปรึกษาเภสัชกรโรงพยาบาลหรือแพทย์เรื่องยาชนิดนั้นก็ได้ จะได้ความกระจ่างชัดเจนในการใช้ยา ตามความสะดวกเพื่อที่จะได้ใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม ได้ผลดี และปลอดภัย


การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน


เป็นการคุมกำเนิดโดยการให้ฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการตกไข่ทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิ

ข้อดีของการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน

  • ยาคุมกำเนิดส่วนใหญ่ให้ผลดี
  • ฮอร์โมนบางชนิดออกฤทธิ์ทันทีที่ได้รับยา
  • ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ยาบางชนิดประจำเดือนหยุดเลย
  • ฮอร์โมนจะลดอัตราการเกิดมะเร็งมดลูก
  • สามารถร่วมเพศได้อย่างอิสระ
  • ยาคุมบางชนิดใช้รักษาสิวได้

ข้อด้อยของยาคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน

  • ได้รับฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ คัดเต้านม น้ำหนักเพิ่ม
  • โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงอาจจะเกิดได้เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในตับ เลือดแข็งตัวง่าย
  • การใช้ฮอร์โมนไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ยาเม็ดคุมกำเนิดคืออะไร

ยาเม็ดคุมกำเนิด คือยาเม็ดที่ใช้กินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แบบชั่วคราวประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน และโปรเจสโตเจนจัดทำไว้เป็นแผงหลายชนิดแต่ละชนิดจะมีปริมาณตัวยาและจำนวนเม็ดไม่เท่ากัน เช่น 21,28 เม็ด ผู้ใช้ต้องกินอย่างต่อเนื่อง บางชนิดอาจหยุดยาเป็นช่วง เมื่อเลิกใช้ก็สามารถกลับมามีบุตรได้อีก เมื่อรับประทานยาครบสิบเม็ดจึงจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้

ประเภทของยาเม็ดคุมกำเนิด

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนระดับเดียว
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนหลายระดับ
  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสโตเจน
  2. ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้ภายหลังการร่วมเพศ
  3. การฉีดฮอร์โมน
  4. การฝังฮอร์โมน

ยาเม็ดคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดยกลไกดังนี้

  • ยับยั้งการตกไข่และป้องกันไม่ให้ไข่สุขจึงไม่มีการตกไข่
  • สกัดกั้นไม่ให้อสุจิเข้าสู่มดลูก โดยทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้น
  • ขัดขวางการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

ยาแต่ละเม็ดมีฮอร์โมนเอสโตเจน และโปรเจสโคเจนเป็นส่วนประกอบ มีทั้งชนิด 21,22 และ 28 เม็ดตัวยา 7 เม็ดที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเม็ดแป้งไม่มีฮอร์โมน ยาเม็ดคุมกำเนิดในกลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนระดับเดียว

ยาเม็ดทุกเม็ดมีปริมาณตัวยาฮอร์โมนรวมเท่ากัน ปัจจุบันนิยมใช้ชนิดที่มีเอสโตเจนต่ำๆคือ 20-30ไมโครกรัม ส่วนโปรเจสโตเจนที่ใช้มีหลายชนิด และยังคงมีการพัฒนาเพื่อหาฮอร์โมนชนิดใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงต่ำยาคุมชนิดนี้ไม่ควรใช้ในคนที่ให้นมบุตรเพราะจะทำให้น้ำนมน้อย

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนหลายระดับ

ยาแต่ละเม็ดจะมีฮอร์โมนไม่เท่ากัน ปริมาณยามีหลายระดับเลียนแบบการหลังฮอร์โมนตามธรรมชาติซึ่งทำให้ผลข้างเคียงของยาลดลง

ยาเม็ดคุมกำเนิดทีมีเฉพาะโปรเจสโตเจน

เป็นยาคุมกำเนิดที่มีแต่ progestin อย่างเดียวจึงลดผลข้างเคียงของยา ยานี้อาจจะเรียก mini-pill กลไกการออกฤทธิ์ของยาคือจะทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวเชื้อ sperm ผ่านไปยาก และทำให้เยื่อบุมดลูกไม่เหมาะในการฝังตัว เป็นยาที่มีฮอร์โมนในขนาดน้อยจัดทำเป็นแผง 28 เม็ดยาทุกเม็ดมีตัวยาเหมือนกัน การกินยาให้เริ่มกินวันแรกของรอบเดือนและกินยาต่อเนื่องทุกวันโดยไม่ต้องหยุดยา เมื่อหมดแผงให้เริ่มแผงใหม่ทันที

ข้อดีของยาชนิดนี้

  • ยานี้มีประโยชน์ ในผู้ที่ไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ เช่นคลื่นไส้อาเจียน แต่ว่าประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะต่ำว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม
  • สามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
  • ใช้ในคนให้นมบุตรได้เนื่องจากไม่ได้ลดน้ำนม
  • มีความปลอดภัยมากกว่าชนิดฮอร์โมนรวมเมื่อใช้ในภาวะที่มีความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หรือคนอ้วน

ข้อด้อยของยาคุมชนิดนี้

  • อาจจะมีเลือดออกกะปริดกะปอยในช่วงแรกของการใช้ยา อาจจะเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดเป็นวิธีอื่น
  • น้ำหนักเพิ่ม คัดเต้านม
  • ยานี้ต้องรับประทานครบเดือนก่อนจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดังนั้นในเดือนแรกต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย
  • ยาคุมนี้ต้องรับประทานให้ตรงเวลา หากคลาดเคลื่อนไป 3 ชั่วโมงควรใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นเช่นถุงยางอนามัย รอจนรอบหน้า
  • หากลืมรับประทานยาแม้เพียงวันเดียวก็ควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดใช้หลังร่วมเพศ

ยาชนิดนี้นิยมใช้ในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันล่วงหน้า โดยที่ผู้ใช้ไม่ทราบผลข้างเคียงของยา ยากลุ่มนี้มีทั้งแบบฮอร์โมนชนิดเดียวและชนิดฮอร์โมนรวม โดยแต่ละชนิดจะมีวิธีกินต่างกัน ส่วนมากนิยมใช้ชนิดที่กินหลังมีเพศสัมพันธ์ทันที เพราะใช้ง่าย แต่เนื่องจากยามีฮอร์โมนขนาดสูงมากจึงเกิดอาการข้างเคียงสูงกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดอื่น ผู้ใช้จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างมาก มีเลือดออกผิดปกติ ผลของการป้องกันตั้งครรภ์ยังต่ำกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรวม ถ้าผิดพลาดอาจจะเกิดการตั้งครรภ์ได้เหมาสำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อย หรือใช้ในกรณีที่ถูกขมขืน

ผู้ที่ห้ามใช้ยาคุมกำเนิด

ผลของฮอร์โมนจะออกฤทธิ์ตามอวัยวะต่างๆหลายแห่ง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อผุ้ใช้บางกลุ่มที่มีโรคประจำตัวภาวะที่ห้ามใช้และควรหลีกเลี่ยงได้แก่

  • มะเร็งของอวัยวะภายในของผู้หญิง และมะเร็งเต้านม
  • โรคตับเฉียบพลันหรือตับทำงานผิดปกติ
  • โรคของถุงน้ำดี
  • มีเลือดออกโพรงมดลูก
  • เคยหรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ความดันโลหิตสูง
  • สงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์
  • โรคลมชัก
  • โรคเบาหวาน
  • อายุมากกว่า40ปี หรือมากกว่า 35 ปีที่อ้วน มีไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่จัด ถ้าหากท่านมีหลายปัจจัยเสี่ยงและรับประทานยาคุมกำเนิดโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนก็จะมีสูงขึ้น
  • มีระดูน้อย หรือขาดระดู
  • ปวดศีรษะบ่อย หรือเป็นไมเกรน

อาการข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงที่พบได้คือ น้ำหนักตัวเพิ่ม สิว ฝ้า ผมร่วง ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้จะเป็นในระยะเริ่มแรก ส่วนใหญ่หายได้เอง

  • อาการคลื่นไส้อาเจียน มักพบช่วงแรกของการใช้ยา แก้ไขโดยให้กินยาคุมหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน แต่ถ้ามีอาการมากหรือเป้นอยู่นานควรปรึกษาแพทย์ แต่ถ้าใช้ระยะแรกไม่เกิดแล้วมาเกิดภายหลังอาจจะเกิดจากการตั้งครรภ์หรือโรคอื่น ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
  • อาการเจ็บคัดเต้านม พบในระยะแรกของการรับประทานยา ซึ่งจะลดลงหรือหายไปในเวลาต่อมา
  • เลือดออกกะปริดกะปรอย มักพบในระยะแรก หรือผู้ที่ลืมกินยาบ่อยแก้ไขโดยการกินยาอย่างสม่ำเสมอ
  • ยาคุมกำเนิดจะทำให้ประจำเดือนมาน้อยลง ปวดประจำเดือนน้อยลง และป้องกัน cyst และเนื้องอกที่รังไข่และมดลูก
  • การขาดระดูระหว่างการใช้ยา ควรตรวจให้แน่ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์

ข้อระวังเมื่อใช้ยาคุมกำเนิด

หากท่านที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดและเกิดอาการเหล่านี้ควรหยุดยาและรีบพบแพทย์

  • มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
  • ตัวเหลืองตาเหลือง
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง จะเป็นลม เวียนศีรษะ
  • ความดันโลหิตสูง
  • มีอาการปวดและบวมเท้า และน่องให้สงสัยว่าเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • ปวดตา ตาพร่า เห็นแสงวูบวาบให้สงสัยว่ายาคุมกำเนิดทำให้ไมเกรนเป็นมากขึ้น
  • มีอาการปวดหน้าอกและหายใจหอบ
  • มีอาการซึมเศร้า

วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

ชนิดแผง 21,22 เม็ด

เริ่มใช้ยาตั้งแต่วันที่ 1 ของรอบเดือน(วันแรกของประจำเดือน)ไม่เกินวันที่ 5 ของรอบประจำเดือน กินทุกวันจนหมดแผง ควรทานเวลาเดียวกันทุกวัน สำหรับชนิด 21 เม็ดให้หยุดยา 7 วัน หยุดยา 6 วันสำหรับชนิด 22 เม็ด ระหว่างหยุดยา 2-4 วันจะมีเลือดประจำเดือนมา เมื่อหยุดยาครบกำหนดให้เริ่มแผงใหม่ตามวิธีเดิม

ชนิดแผง 28 เม็ด

เริ่มกินยาในวันแรกของรอบประจำเดือน โดยเริ่มกินเม็ดแรกในส่วนที่ระบุบนแผงว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ยา และกินยาตามทิศทางที่ลูกศรกำกับจนหมดแผง และกินแผงใหม่โดยไม่ต้องหยุดยา

ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนหลายระดับ

ตัวยาแต่ละเม็ดจะมีขนาดฮอร์โมนไม่เท่ากัน จึงต้องกินยาตามลูกศรกำกับ เมื่อลืมกินยาต้องเลือดกินให้ตรงกับชนิดยาที่ลืม

การดูแลสุขภาพระหว่างการใช้ยา

ในระยะแรกควรพบแพทย์เพื่อซักถามข้อข้องใจ และปรึกษาเรื่องผลข้างเคียงของยา สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวานแพทย์จะเจาะเลือดตรวจน้ำตาลและไขมันในเลือด หลังจากนั้นควรตรวจสุขภาพปีละครั้ง

  • ตรวจสุขภาพทั่วไป วัดความดันโลหิต
  • การตรวจเต้านม
  • การตรวจภายในและการตรวจมะเร็งปากมดลูก

ยาเม็ดคุมกำเนิดกับการเกิดเนื้องอก

ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่มีผลทำให้ผู้ใช้มีโอกาสเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น เช่นมะเร็งเต้านม หรือเนื้องอกมดลูก และมีผลลดการเกิดเนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง เนื้องอกรังไข่ชนิดไม่ร้ายแรง ส่วนมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับผลการศึกษายังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนเพราะการเกิดมะเร็งทั้งสองชนิดเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆด้วย ดังนั้นผู้ใช้ยาคุมกำเนิดไม่ควรวิตกกังวลในเรื่องผลของยากับมะเร็ง

ทำอย่างไรถ้าลืมกินยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ การลืมกินยาอาจจะทำให้เกิดผลเสีย เช่น ทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ถ้าลืมบ่อยๆอาจเกิดการตั้งครรภ์ ดังนั้นควรกินยาเวลาเดียวกันทุกวัน และหากลืมกินยาให้แก้ไขดังนี้

  • ลืมกินยาหนึ่งเม็ดให้กินทันทีที่นึกได้ และกินเม็ดต่อไปตามปกติ
  • ลืมกิน 2 เม็ดติดต่อกันในช่วง 2 สัปดาห์แรกให้กินยา 2 เม็ดติดต่อกัน 2 วัน แล้วกินต่อตามปกติจนหมดแผง ให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย
  • ลืมกินยา 2 เม็ดติดกันในช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือลืมมากว่า 2 เม็ดในช่วงใดก็ตามให้หยุดยาแผงนั้นจนกว่าจะมีประจำเดือน จึงเริ่มแผงใหม่ ให้ใช้ถุงยางอนามัยหรืองดการร่วมเพศ
  • ลืมกินยามากกว่า 2 เม็ดให้หยุดยาคุมแล้วใช้วิธีอื่นคุมกำเนิดเมื่อประจำเดือนมาจึงเริ่มใหม่

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยา

เมื่อเริ่มคุมกำเนิดด้วยยาแผงแรก ทั้งในผู้ที่เริ่มใช้ หรือผู้ที่ต้องการใช้ใหม่หลังจากหยุดยาไปช่วงหนึ่ง ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ใน 2 สัปดาห์แรกต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเพราะยาจะยังไม่ออกฤทธิ์ทันทีหลังจากนั้นสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ สำหรับยาแผง 21,22 เม็ดช่วงที่หยุดยาก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ

การใช้ยาคุมกำเนิดร่วมกับยาชนิดอื่น

ถ้ามีการเจ็บป่วยและได้รับประทานยาอื่นต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เนื่องจากมียาหลายชนิดที่อาจจะไปลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดได้ถ้านำมาใช้ร่วมกันเช่นยา penicillin tetracyclin และยาคลายเครียด การอาเจียนหรือถ่ายเหลวทำให้ยาออกฤทธิ์น้อยลง และอาจจะเป็นผลให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย จนถึงกับตั้งครรภ์ นอกจากนั้นยาคุมกำเนิดอาจจะผลของยาที่ใช้ร่วมด้วยลดลง เช่นยารักษาลมชัก ยาปฏิชีวนะบางชนิด

การสูบบุหรี่กับยาคุมกำเนิด

การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่างๆจากยาคุมกำเนิดได้โดยทำให้เกิดภาวะดังต่อไปนี้

  • ความดันโลหิตสูง
  • การแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • การทำงานของหัวใจผิดปกติ

จะทำอย่างไรเมื่อพร้อมจะมีบุตร

เมื่อพร้อมจะมีบุตรให้หยุดยาคุมกำเนิดได้ทันที และในระยะ 3 เดือนแรกหลังหยุดยาควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเช่น การใช้ถุงยางอนามัย เพื่อจะได้ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน ร้อยละ80ของผู้ที่ใช้ยาคุมจะกลับมามีประจำเดือนเป็นปกติใน 3 เดือนร้อยละ90จะมีการตกไข่เป็นปกติใน1ปี ถ้าหลังหยุดยาคุมกำเนิดแล้ว 3 เดือนประจำเดือนยังไม่มาตามปกติควรปรึกษาแพทย์

ขณะรับประทานยาคุมกำเนิดแล้วเกิดการตั้งครรภ์จะส่งผลเสียต่อเด็กหรือไม่

ถ้าสงสัยว่าตั้งครรภ์ให้หยุดยาเม็ดคุมกำเนิดแล้วเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดเป็นอย่างอื่น แล้วปรึกษาแพทย์ ขณะที่รับประทานยาคุมกำเนิดเกิดการตั้งครรภ์ ทำให้เด็กได้รับฮอร์โมน ได้มีการศึกษาพบว่าเด็กที่เกิดมากจะปกติเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีส่วนน้อยมากที่เกิดมาผิดปกติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดพิการแต่กำเนิด ถึงมีก็น้อยมาก

ยาเม็ดคุมกำเนิดกับการให้นมบุตร

แพทย์มักจะแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นในระยะ 6 เดือนแรก แต่ถ้าจะใช้ยาคุมกำเนิดแพทย์จะแนะนำใช้ชนิดที่มีฮอร์โมนน้อย และไม่มี estrogen

สาเหตุที่ตังครรภ์ขณะรับประทานยาคุมกำเนิด

ท่านที่ประสงค์จะคุมกำเนิดต้องเตรียมการคุมกำเนิดชนิดอื่นไว้สำรองเพราะมีเหตุที่ทำให้ลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดดังนี้

  • การลืมรับประทานยาคุมกำเนิด
  • จากโรค เช่นอาเจียน ท้องร่วง
  • จากยา มียาหลายชนิดที่ลดประสิทธิภาพของยา เช่น rifampicin ampicillin tetracyclin dilantin phenobarb

การเปลี่ยนยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมเป็นชนิดโปรเจสติน

หากท่านประสงค์จะเปลี่ยนจากชนิดฮอร์โมนรวมเป็นชนิดprogestin เนื่องจากผลข้างเคียงก็สามารถทำได้โดยรับประทานยาชนิดโปรเจสตินแทนชนิฮอร์โมนรวม โดยกินต่อจากเม็ดฮอร์โมนดังนั้นไม่ต้องรับประทานเม็ดแป้ง

ที่มาของข้อมูล : http://www.siamhealth.net


ยาเม็ดคุมกำเนิด รับประทานอย่างไร


ยาเม็ดคุมกำเนิด รับประทานอย่างไร โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่คุณผู้หญิงนิยมใช้กัน เนื่องจากสะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง การใช้ยาอาจจะยุ่งยากสำหรับน้องสาวมือใหม่ มาลองฟังข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาเม็ดคุมกำเนิด เพื่อการใช้ที่ถูกต้อง

ก่อนเริ่มใช้ควรทำอย่างไร

· แนะนำให้ไปหาแพทย์เสียก่อนเพื่อตรวจสุขภาพว่า ตัวคุณเองไม่เป็นโรคที่ห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือมีปัจจัยเสี่ยงกับสุขภาพหากใช้ยาคุม เช่นระดับไขมันในเลือดสูงอยู่แล้ว

· ต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ เพราะยาเม็ดฮอร์โมนเมื่อทานเข้าไป มีผลอันตรายต่อทารกได้

วิธีเริ่มต้นทานยาแผงและแผงต่อไป

สำหรับแผงแรก

· สำหรับยาเม็ดแบบ 21 เม็ด เมื่อได้ยาแผงแรกมา พอประจำเดือนมาวันแรกให้นับเป็นวันที่ 1 เม็ดแรกของแผงให้เริ่มกินภายใน 5 วันของรอบเดือน

· สำหรับยาเม็ด 28 เม็ด จะเริ่มทานเม็ดแรกในวันแรกที่มีประจำเดือนเลย

· หากในแผงยามีคำว่า เริ่มต้น หรือ START ให้เริ่มกินเม็ดนั้นก่อน หรือเม็ดที่อยู่ในบริเวณเริ่มต้น และกินไปตามลูกศรที่ชี้ไว้

· หากเป็นยาเม็ดชนิดที่เริ่มทานเม็ดไหนก็ได้ เพื่อให้จำง่ายควรเลือกเม็ดยาตรงกับวันที่กิน เช่น เริ่มกินวันจันทร์ก็เลือกเม็ดยาที่ตรงกับวันจันทร์ หรือมีอักษร "จ" หรือ "MON" กำกับ

สำหรับแผงต่อไป

· ยาชนิด 21 เม็ด เมื่อหมดแผงแรกแล้ว ให้หยุดยา (ปกติหมดเม็ดที่ 21 แล้ว อีก 2-3 วันรอบเดือนก็จะมา) รอจนประจำเดือนมาแล้วจึงเริ่มแผงใหม่ในวันที่ 5 ได้เลย โดยนับวันที่เริ่มมีประจำเดือนมาเป็นวันที่ 1 เช่นเดิม หรือเว้นไม่กิน 7 วัน เมื่อครบ 7 วันที่ไม่กินแล้ว วันที่ 8 ให้เริ่มแผงใหม่ทันที ไม่ว่ารอบเดือนจะมาหรือไม่มา

· ชนิด 28 เม็ด เมื่อหมดแผงแรกไม่ต้องหยุดทาน เริ่มต้นแผงใหม่ในวันรุ่งขึ้นได้เลย ไม่ต้องรอรอบเดือน ไม่ว่ารอบเดือนจะมาหรือไม่มา รอบเดือนจะหยุดหรือไม่หยุดก็ตาม

ต้องทานติดต่อกันทุกวัน

· ต้องทานทุกวัน วันละ 1 เม็ด ควรเป็นเวลาเดียวกัน เพื่อให้ได้รับปริมาณความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดสูงเพียงพอและสม่ำเสมอในการออกฤทธิ์

เมื่อลืมทานยา

· นึกได้เวลาใด ให้ไปหยิบเม็ดที่ลืมมาทานทันที (เท่ากับทานเม็ดนั้นช้าไปหน่อย) ห้ามผลัดวันอีกต่อไป แล้วทานเม็ดถัดมาตามเวลาที่เคยทานอยู่ประจำ แต่ถ้านึกได้ในเวลาที่ต้องทานอีกเม็ด ก็ทานสองเม็ดควบเลย

· ถ้าลืมทาน 2 เม็ด ให้ทาน 2 เม็ดทันทีที่ลืม แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นทานอีก1เม็ด เย็นนั้นทาน 1 เม็ด เช้าวันรุ่งขึ้นทานอีกเม็ด (เพิ่มตอนเช้า สองเช้า เช้าละเม็ด) กรณีเช่นนี้อาจทำให้รอบเดือนมากระปริบกระปรอยได้ และถ้าลืมในช่วง 1 – 7 เม็ดแรก โอกาสพลาดอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากปริมาณยาสูงๆต่ำๆไม่เพียงพอในการออกฤทธิ์ จึงต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นช่วยด้วย เช่นใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย แต่ถ้าลืมในช่วงท้ายๆหรือจะหมดแผงก็ไม่ค่อยมีผลมากเท่าไหร่

· ถ้าลืมทาน 3 เม็ด ก็หยุดยาเลยครับ รอให้รอบเดือนมาใหม่ กลับไปใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นๆ แล้วเริ่มต้นแผงใหม่ภายใน 5 วัน นับจากวันแรกที่มีประจำเดือน

· ถ้าทานยาแล้วอาเจียน ถ้าอาเจียนหลัง 2 ชั่วโมงไปแล้วก็ไม่มีผลอะไร แต่ถ้าอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง ก็ต้องทานซ้ำอีกเม็ดทันที ถ้าเป็นยาคุมแบบที่มีฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ด จะทานเม็ดไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นแบบ triphasic คือ แต่ละเม็ดมีฮอร์โมนไม่เท่ากัน ก็ต้องซื้ออีกแผงมาเสริมเม็ดที่อาเจียนออกไป ทานตรงเม็ดที่อาเจียนออกไปนั่นแหละครับ

· หากมีอาการท้องเดินหลายวัน การดูดซึมของยาจะไม่ดี ควรใช้การป้องกันวิธีอื่นช่วยด้วย (กรณีเช่นนี้อาจมีเลือดออกกระปริบกระปรอยได้)

ทานไปแล้ว มีผลข้างเคียง

· ที่พบบ่อยได้แก่ คลื่นไส้ มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน ปวดศีรษะ วิงเวียน ซึมเศร้า มีสิวฝ้า คัดเต้านมและเจ็บ น้ำหนักเพิ่ม มีประจำเดือนน้อยลง อาการข้างเคียงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะ 2-3 เดือนแรกของการใช้ยาเนื่องจากระบบฮอร์โมนของคุณกำลังปรับตัวอยู่ ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่หากมีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันที

ระหว่างนี้กำลังทานยาอื่นประจำอยู่

· ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจเกิดปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาทำให้ยาที่ทานอยู่ประจำ หรือทานควบคู่กันอยู่มีประสิทธ์ภาพเปลี่ยนไป

· ยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันการชักบางชนิด ยาลดน้ำตาลในเลือด (ยาเบาหวาน) อาจลดประสิทธิภาพลง หากต้องใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันควรปรึกษาเภสัชกรใจดีที่ร้านยาหรือที่โรงพยาบาลได้เลยครับ

แหล่งข้อมูล

Oral Contraceptives, www.oralcontraceptives.com

Birth Control, Medline Plus

Oral Contraceptives, Medline Plus

ภญ.พูลสุข จันทร์วัฒนเดชากุล, สิ่งสำคัญที่ควรรู้เมื่อคุณใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด, เดลินิวส์ 6 มิถุนายน 2542

ยาคุม คุมอย่างไรให้ปลอดภัย นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.168 July 2007

นพ. รุ่งโรจน์ ตรีนิติ ห้องสมุด E-LIB, ยาเม็ดคุมกำเนิด

นพ.วีระ สุรเศรณีวงศ์, มากมายคำถามกับยาคุม, แม่และเด็ก ฉบับที่ 341 กรกฎาคม 2543

การรับประทานยาคุมกำเนิด ที่ถูกต้อง


โดย พล.ต.รศ.นพ.นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและ ผ่าตัดทางนรีเวช

ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน เป็นยาเม็ดที่ป้องกันการตั้งครรภ์โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ของรังไข่ ในยา 1 เม็ดจะประกอบด้วยสารเคมีสังเคราะห์ 2 อย่างที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนพื้นฐานของรังไข่ และฮอร์โมน


โปรเจสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนซึ่งเป็นฮอร์โมนของรังไข่ช่วงหลังไข่ตก การให้ยาที่มีฤทธิ์ 2 อย่างนี้เข้าไปในร่างกาย ยาจะไปยับยั้งฮอร์โมนของสมองและต่อมใต้สมองไม่ให้มากระตุ้นรังไข่ จึงทำให้ไม่มีการตกไข่ ในขณะเดียวกันยาทั้ง 2 ตัวนี้ก็จะทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียว เชื้ออสุจิจึงผ่านเข้าไปถึงในมดลูกและท่อนำไข่ได้ลำบาก และเมื่อให้ไปหลายๆ เดือนก็จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน สรุปก็คือยามีฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลายด่าน

ฤทธิ์ของยาจะออกผลป้องกันการตกไข่ได้เต็มที่ภายใน 7 วันนับตั้งแต่เริ่มรับประทานยาในแต่ละรอบ ดังนั้นเมื่อรอบการตกไข่ปกติจะประมาณวันที่ 14-15 +2 วัน นับจากประจำเดือนมาวันแรก ดังนั้นจึงควรเริ่มรับประทานยาภายใน 5 วันนับจากมีประจำเดือนวันแรกจึงจะมั่นใจในประสิทธิภาพการคุมกำเนิดของยา ถ้าเริ่มรับประทานเลยวันที่ 7 ของรอบประจำเดือน เราก็จะไม่มั่นใจการออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ได้ทันหรือไม่ ในกรณีนี้จึงควรคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมไปด้วยจนกว่าจะรับประทานยาครบ 7 วันแล้ว

วิธีรับประทาน

ให้เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดหลังจากเริ่มมีประจำเดือนไม่เกินวันที่ 5 ยิ่งเริ่มเร็วยาออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ก็ยิ่งเร็วขึ้น แพทย์มักแนะนำให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกภายในวันที่ 2-5 ของรอบประจำเดือน (ไม่แนะนำเริ่มในวันแรก เพราะวันแรกที่เลือดออกไม่แน่ใจว่าจะเป็นเลือดประจำเดือนจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นวันที่ 2-3 ก็มั่นใจ) โดยรับประทานยาวันละ 1 เม็ด เวลาใดก็ได้เป็นประจำ และควรเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกันในแต่ละวันเพื่อให้ความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดสม่ำเสมอ

แพทย์มักแนะนำให้รับประทานก่อนนอน เพราะตอนนอนจะไม่มีอะไรอยู่ในความครุ่นคิดแล้ว และคนเรามักจะนอนในบ้านตนเองจึงไม่ค่อยลืม ไม่ต้องคอยพกยาเพราะยาจะอยู่ในบ้านอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งคนที่เริ่มรับประทานยาใหม่ๆ อาจมีผลข้างเคียงประเภทคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะได้ อาการดังกล่าวจะได้เป็นตอนที่นอนหลับแล้วทำให้ไม่เป็นผลต่อการดำเนินชีวิต (บางคนเป็นมากก็อาจจะเป็นทั้งวันซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนไป)

ในกรณีที่รับประทานยาอยู่แล้วเกิดลืม ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ เช่น ถ้าลืมรับประทานยาตอนก่อนนอนนึกขึ้นได้ ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นให้รีบรับประทานยาทันที แล้วกลางคืนก็ให้รับประทานยาเม็ดต่อไป ถ้านึกขึ้นได้ตอนกลางคืนก็ให้รับประทานควบกันไปเป็น 2 เม็ด

ถ้าลืมรับประทาน 2 วันก็ให้รับประทานควบกันเป็น 3 เม็ด หรือคืนละ 2 เม็ด 2 คืนติดกันแล้วคืนต่อไปก็รับประทานยาตามปกติ แต่ช่วง 4-5 วันหลังจากที่ลืมนี้ให้คุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย เพื่อความมั่นใจประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดของยา แต่ถ้าลืมเกิน 3 วัน ผลของยาคุมกำเนิดจะไม่ดี และมักจะทำให้รอบเดือนมาไม่ปกติ จึงแนะนำว่าให้รับประทานวันละ 2 เม็ด ควรชดเชยไปจนครบที่ลืม อาจจะแบ่งรับประทานเช้า 1 เม็ด และ ก่อนนอน 1 เม็ด หรือก่อนนอน 2 เม็ด และในรอบนั้น ให้คุมกำเนิดวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย

บางคนเมื่อลืมรับประทานเกิน 3 วัน จะมีเลือดออกด้วย แนะนำให้รับประทานยาต่อไปจนหมดแผงในกรณีที่ยาเหลือไม่กี่เม็ดแล้วก็เริ่มแผงใหม่ตามปกติ แต่ถ้าเป็นกลางแผงแนะนำให้หยุดยา 7 วัน และเริ่มแผงใหม่ระหว่างที่หยุดยาและรับประทานยาแผงใหม่ยังไม่ครบ 7 วันให้คุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย



ปกติแล้วยาคุมกำเนิดจะอยู่ในรูปแบบที่เป็นแผง มี 2 ชนิด คือ แผงละ 21 เม็ด และแผงละ 28 เม็ด ทั้ง 2 ชนิดจะมีตัวยาที่เหมือนกัน 21 เม็ด แต่ชนิดที่เป็นแผง 28 เม็ดจะเป็นยาหลอกหรือวิตามินเพิ่มอีก 7 เม็ด บนแผงแต่ละเม็ดจะมีตัวอักษร วันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ กำกับอยู่ การเริ่มรับประทานก็ให้เริ่มตรงเม็ดที่ตรงกับวันของสัปดาห์วันนั้นที่ตรงต้นๆ แผง แล้วรับประทานเรียงกันไปในแต่ละวัน

สำหรับชนิดที่เป็นแบบแผงละ 21 เม็ดก็เริ่มรับประทานเรียงกันไปจนครบ 21 วัน ก็เว้นอีก 7 วัน พอวันที่ 8 ก็เริ่มรับประทานใหม่ วิธีสังเกต คือ ถ้าเราเริ่มรับประทานแผงแรกที่วันไหน เช่น เริ่มต้นที่วันพุธ แผงต่อไปก็จะเริ่มที่วันพุธเหมือนกัน ระหว่างช่วงที่เว้นรับประทานยา 7 วันนั้นจะมีประจำเดือนมา (มักจะเริ่มมาหลังจากหยุดยาแล้ว 3-4 วัน)

ถ้าเริ่มรับประทานแบบแผงละ 28 เม็ด ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดยา 7 วันเหมือนแบบชนิดแผงละ 21 เม็ด เมื่อรับประทานไปจนถึงส่วนที่เป็นยาหลอก 7 เม็ด จะมีประจำเดือนมาก็ให้รับประทานยาไปเรื่อยๆจนครบแผง แล้วก็เริ่มแผงใหม่ในวันต่อมาเลย

ยาทั้ง 2 ชนิดจะให้ประสิทธิภาพเท่ากัน เพียงแต่ชนิดแผงละ 28 เม็ดต้องรับประทานทุกวันเพื่อจะไม่ลืมรับประทานแผงใหม่หลังจากเว้นแผงเก่า ในระหว่างรับประทานยาคุมกำเนิดประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอและมาน้อยลง คนที่เคยมีอาการปวดประจำเดือนอาจจะทุเลาลง หรือหายปวดได้ ถ้ารับประทานยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้องจะสามารถคุมกำเนิดได้เกือบ 100% มีโอกาสผิดพลาดตั้งครรภ์ได้ 0.4% ต่อปี เมื่อรับประทานยาตามที่แนะนำมาดังกล่าวแล้วจะมีเพศสัมพันธ์กันวันไหนก็เรียกได้ว่าไม่มีโอกาสตั้งครรภ์

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด

ผลค้างเคียงของยาคุมกำเนิดที่พบบ่อย คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ไม่สบายเนื้อสบายตัว บวม น้ำหนักขึ้น เจ็บหน้าอก (อาการอื่นๆ ปลีกย่อยให้ดูในเอกสารกำกับยา) มักจะเป็นในระยะแรกๆ ของการเริ่มรับประทานยา (3 แผงแรก)
ถ้าทนได้หลังจากนั้นก็จะคุ้นเคยกับยามากขึ้นไม่มีอาการอะไร


ผลเสียของยาคุมกำเนิด

- อาจทำให้มีความผิดปกติของไขมันในเลือด

- การแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ ไม่ดีสำหรับคนที่มีประวัติเคยมีเส้นเลือดดำอุดตัน

- คนที่เป็นเนื้องอกมดลูก เนื้องอกเต้านม จะให้เป็นมากขึ้น

- ยานี้จะถูกทำลายที่ตับ ถ้ามีโรคตับอยู่จะทำให้ตับอักเสบขึ้นได้

คนที่ไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิด

1. มีไขมันในเลือดสูง มีความดันโลหิตสูง

2. มีประวัติเส้นเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ

3. มีก้อนที่เต้านมไม่ทราบสาเหตุ เป็นมะเร็งเต้านม

4. เนื้องอกมดลูก

5. เป็นโรคตับ ตับทำงานไม่ดี

6. อายุมากเกิน 45 ปีขึ้นไป


ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน

ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน จะมีส่วนประกอบคล้ายกับยาคุมกำเนิด แต่จะมีปริมาณสารเคมีที่มากกว่ายาคุมกำเนิดแบบธรรมดา ให้รับประทานก่อนหรือหลังมีการร่วมเพศไม่เกิน 12 ชั่วโมง จำนวน 2 ครั้งโดยและครั้งให้ห่างกัน 12 ชั่วโมง อาจจะช่วยให้ไม่ให้ตั้งครรภ์ได้ แต่ป้องกันไม่ได้ 100% และทำให้เลือดออกผิดปกติ เกิดความสับสนขึ้นได้ว่าเลือดที่ออกเป็นเลือดที่เกิดจากอะไร ควรรับประทานยาคุมกำเนิดแบบธรรมดามากกว่า